วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑

วันอาทิตย์ที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑





ประวัติความเป็นมาของการสานเข่ง
บ้านสวนเป็นตำบลหนึ่งที่อยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ และเลี้ยงสัตวเป็นหลัก เมื่อประมาณปี พ.ศ.2508 ได้เกิดฝนแล้งติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีทำให้ประชากรบางส่วนอพยพไปทำมาหากินในท้องถิ่นอื่นรวมทั้งคุณป้าฉลวย เมืองวุ่น ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ท่านได้พาครอบครัวไปอยู่ที่เขาสมองแครง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และเริ่มได้เรียนรู้วิธีสานเข่งที่นั้นเป็น เวลา 3 ปี ต่อมาได้พาครอบครัวกลับมาบ้านสวนอีกครังหนึ่ง จึงได้นำวิชาความรู้การสานเข่งมาประกอบอาชีพด้วย เดิมนั้นท่านได้ชักชวนเพื่อนบ้านใกล้เคียงทำด้วยต่อมาชาวบ้านอื่นได้มาพบเห็นก็สนใจ และทำตามกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเวลาว่างจากการทำนา ทำไร่ จึงเป็นอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วยบางรายไม่มีที่ทำกินหรือมีน้อย ก็ยึดเป็นอาชีพหลักไปเลย เพราะเป็นงานไม่หนัก การลงทุนน้อย เดิมทีวัสด ุ(ไม้ไผ่รวก) ยังมีจำนวนมาก จึงได้ตัดกันได้ตามต้องการ โดยรวมกลุ่มกันโดยว่าจ้างรถไปลากในป่า โดยคิดค่าบริการลำละ 50 สตางค์ (พ.ศ.2512) สถานที่ที่ตัดไม้คือบริเวณระหว่างเขตอำเภอบ้านด่านลานหอยกับเขตติดต่อจังหวัดตากต่อมาได้มีพ่อค้าตัดมาขายส่งถึงบ้านในราคา ลำละ 1 บาท ปัจจุบันราคาลำละ 10 - 12 บาท
ประวัติความเป็นมาของผ้าตีนจก
การศึกษาความเป็นมาและลวดลายผ้าโบราณมักมีข้อจำกัดในเรื่องของหลักฐานที่จะใช้ในการศึกษาทำให้การศึกษา ทำได้เท่าที่ยังสามารถสืบค้นข้อมูลจากบุคคลที่ยังเหลืออยู่และหลักฐานที่ยังสามารถเก็บรักษาต่อกันมาได้ เท่านั้น สำหรับชุมชนแม่แจ่มหลักฐานที่มีอยู่จึงจำกัดขอบเขตอยู่ในช่วง ไม่เกิน 200 ปี ที่ผ่านมา โดยมีหลักฐานซิ่นตีนจกรุ่นอายุ 30 ปีขึ้นไปผ้าจกต่างๆภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดป่าแดดและจากการสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชน เจ้าของผ้าตีนจกประเภทต่างๆ ตลอดจนการค้นคว้าจากเอกสารหนังสือและภาพถ่าย นอกจากนี้ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ของชุมชนแม่แจ่มเองที่อาจศึกษาได้ทั้งในด้านหลักฐาน ทางโบราณคดี ศิลปทางสถาปัตยกรรมที่มีอยู่เอกสารตำราต่างๆรวมทั้งสังคมวัฒนธรรมชุมชนเป็นจุดซึ่งน่าสนใจ อาจทำให้มองเห็นแง่มุมพัฒนาการของสังคมและชุมชนซึ่งน่าจะสอดคล้องกับงานศิลป ของชุมชนด้วย อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพอจะกล่าวถึงความเป็นมาของแม่แจ่มได้เป็นช่วงๆ

สินค้าภูมิปัญญาไทย
กระเป๋าย่านลิเภา
เป็นเวลากว่าสี่สิบปีแล้วที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมอาณาประชาราษฏร์ทั่วทุกท้องถิ่น และได้ทรงหยั่งรู้ทุกข์สุขของประชาชนอย่างลึกซึ้งกว้างของ โดยเฉพาะในเรื่องการทำมาหากินของประชาชนในช่วงเวลาอันต่อเนื่องยาวนานของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เมื่อได้ทรงสดับปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ เป็นอันมากแล้ว ท้ายที่สุดจึงได้มีพระราชดำรัสเป็นเวลากว่าสิบปีมาแล้วว่า"ประชาชนนั่นแหละเขามีความรู้ เขาทำงานมาหลายชั่วคนแล้วเขาทำกันอย่างดี เขามีความเฉลียวฉลาด เขารู้ว่าตรงไหนควรทำกสิกรรมเขารู้ว่าที่ไหนควรเก็บรักษา"จากพระราชดำรินี้ แม้มิได้ทรงใช้คำว่า "ภูมิปัญญาชาวบ้าน" แต่โดยสาระสำคัญก็บ่งบอกชัดเจนแล้ว เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ พระราชดำรัสนี้เป็นการปลุกไทยทั้งชาติให้ตื่นตัวและตื่นรู้ ว่าชาวบ้านไทยมีปัญญามีความรู้ที่ควรแก่การยอมรับและยกย่อง ผลต่อเนื่องสำคัญยิ่งก็คือชาวบ้านให้มาก คนในราชการไม่ควรสมมุติตนเองว่ารู้ดีกว่า ฉลาดกว่าในความเป็นจริง คนราชการได้ถูกทำให้ความสำคัญและพิจารณาความคิด ความเห็น และการตัดสินใจของชาวบ้านเพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านให้มากที่สุด
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรที่ดิน
การพัฒนาและการอนุรักษ์ดิน

หลังจากงานจัดสรรที่ดินทำกินในระยะแรกแล้ว แนวพระราชดำริในการจัดการทรัพยากรดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ขยายขอบเขตไปสู่เรื่องการพัฒนาและอนุรักษ์ดินเพื่อการเกษตรกรรม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรให้สูงขึ้นหรือรักษาไว้ไม่ให้ตกต่ำ เช่น การวิจัยและการวางแผนการใช้ที่ดินเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับลักษณะสภาพดิน การศึกษาเพื่ออนุรักษ์บำรุงรักษาและฟื้นฟูดิน มรรควิธีส่วนใหญ่เป็นวีธีการตามธรรมชาติที่พยายามสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น เช่น ให้มีการปลูกไม้ใช้สอยร่วมกับการปลูกพืชไร่เพื่อประโยชน์ให้ได้ร่มเงาและรักษาความชุ่มชื้น หรือการปลูกพืชบางชนิดในพื้นที่ซึ่งดินไม่ดี แต่พืชชนิดนั้นให้ประโยชน์ในการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนใช้ปุ๋ยเคมี พื้นที่บางแห่งไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกพืชผล ทรงแนะนำให้ใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ฟื้นฟูเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
ในระยะต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญมากขึ้นในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุ ในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โครงการต่างๆ ในระยะหลังจึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขามาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฎให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง พระราชดำริและพระราชกรณียกิจในการดำเนินงานด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ดินที่สำคัญ สามารถแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ
ก) แบบจำลองการพัฒนาพื้นที่ที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ การจัดการทรัพยากรดินโดยการอนุรักษ์บำรุงรักษาดินที่มีสภาพขาดความอุดมสมบูรณ์ ดินปนทราย และมีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินมีแบบจำลองอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืช เพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน และสนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดิน และสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง โดยทรงมีพระราชดำริว่า "…การปรับปรุงที่ดินนั้นต้องอนุรักษ์ผิวดิน ซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถ หรือลอกหน้าดินทิ้งไป สงวนไม้ยืนต้น ที่ยังเหลืออยู่ เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื่นของผืนดิน..." ( สำนักงาน กปร., ๒๕๔๒)
ข) การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวด้วยวิธี "การแกล้งดิน" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบความเดือดร้อนของพสกนิกรในภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาดินพรุเพื่อแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ พระองค์ทรงแนะนำให้ใช้วิธี "การแกล้งดิน" คือ เริ่มจากการแกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดินพรุที่มีสารประกอบของกำมะถันที่จะทำให้ดินมีสภาพเป็นกรดจัดเมื่อดินแห้ง จากนั้นก็จึงทำการปรับปรุงดินที่เป็นกรดจัดนั้นด้วยวิธีการต่างๆ ที่จะลดความเป็นกรดลงมาให้อยู่ในระดับที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าวได้
ค) "หญ้าแฝก" กับการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ พื้นที่ดินในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความลาดชันเช่นพื้นที่เชิงเขาอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเนื่องมาจากการชะล้างพังทลายของดิน ทำให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารในดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการที่จะป้องกันการเสื่อมโทรมและการพังทลายของดินโดย ใช้วิถีธรรมชาติ คือการใช้หญ้าแฝกเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสำนักงาน กปร. ในขณะนั้นว่า ให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ ความชุ่มชื้นไว้ในดิน เพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ ประหยัด และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนัก และได้พระราชทานพระราชดำริอีกหลายครั้งเกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ การดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทรงเน้นอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้ จะต้องชี้แจงให้ราษฎร ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมและลงมือลงแรงด้วย (สำนักงาน กปร., ๒๕๔๒)
ตัวอย่างของการจัดการทรัพยากรดินด้วยการอนุรักษ์ดินและฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ โดยการป้องกันการเสื่อมโทรมและการชะล้างพังทลายของดินด้วยการปลูก "หญ้าแฝก" พืชจากพระราชดำริที่ทำหน้าที่เป็นกำแพงที่มีชีวิตในการอนุรักษ์และคืนธรรมชาติสู่แผ่นดิน ได้แก่โครงการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย จังหวัดเพชรบุรี และได้มีการนำมรรควิธีนี้ไปศึกษาวิจัย และนำไปสาธิตในท้องที่ต่างๆ ที่มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ตั้งอยู่ รวมทั้งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอื่นๆ เช่น โครงการพัฒนาหญ้าแฝกในโครงการพัฒนาดอยตุง เพื่อให้เกษตรกรได้รับทราบและนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผลดีแก่ตัวเกษตรกรเอง และสังคมโดยรวม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตด้านการเกษตร
ทฤษฏีใหม่ : แนวทางการจัดการที่ดินและนำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของเกษตรกร เป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน และการประกอบอาชีพทางการเกษตรโดยเฉพาะในเขตที่ใช้น้ำฝนทำนาเป็นหลัก เกษตรกรจะมีความเสี่ยงสูง เป็นเหตุให้ผลผลิตข้าวอยู่ในระดับต่ำ ไม่เพียงพอต่อการบริโภค ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหา จึงได้พระราชทาน "ทฤษฎีใหม่" ให้ดำเนินการในพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ประมาณ ๑๕ ไร่ ด้วยวิธีการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาอย่างเหมาะสม ด้วยการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยให้มีการจัดสร้างแหล่งน้ำในที่ดินสำหรับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ให้มีรายได้ใว้ใช้จ่ายและมีอาหารใว้บริโภคตลอดปี (กรมวิชาการ, ๒๕๓๙: ๗๗) ซึ่งได้ดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เพื่อการผลิตทางเกษตรกรรมที่ยั่งยืนสำหรับเกษตรกรชาวไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสว่า "…ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน…" (สำนักพระราชวัง, ๒๕๔๒: ๓๑) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับทฤษฎีใหม่มาเป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด ๑๖ ไร่ ๒ งาน ๒๓ ตารางวาใกล้วัดมงคล ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี และทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐ ทั้งนี้ก่อนที่จะทรงนำเอกสารออกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น ทรงให้จัดตั้ง "ศูนย์บริหารพัฒนา" ตามแนวพระราชดำริ อยู่ในความรับผิดชอบของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรโดยประสานความร่วมมือระหว่าง วัด ราษฎรและรัฐ ทำการเผยแพร่อาชีพการเกษตรและจริยธรรมแก่ประชาชนในชนบท โดยทรงหวังว่าหากประสบความสำเร็จก็จะใช้เป็นแนวทางสาธิตในท้องที่อื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาด้านการเกษตรนั้น ก็คือแนวคิดและมรรควิธีที่รู้จักกันในนาม "เกษตรทฤษฎีใหม่" (อำพล, ๒๕๔๒: ๓-๔)
พระราชดำริ "ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ ได้พระราชทานขั้นตอนดำเนินงาน ดังนี้
ขั้นที่ ๑ ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น สถานะพื้นฐานของเกษตรกร คือ มีพื้นที่น้อย ค่อนข้างยากจน อยู่ในเขตเกษตรน้ำฝนเป็นหลัก โดยในขั้นที่ ๑ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ ๑๐% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น) ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, ๒๕๔๒)

ขั้นที่ ๒ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน
(๑) การผลิต เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิตโดยเริ่มตั้งแต่ ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การหาน้ำ และอื่นๆเพื่อการเพาะปลูก
(๒) การตลาด เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่าง ๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกันการจัดหายุ้งรวบรวมข้าวเตรียมหาเครื่องสีข้าวตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
(๓) ความเป็นอยู่ ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่าง ๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
(๔) สวัสดิการ แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิการและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้ให้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ
(๕) การศึกษา มีโรงเรียนและชุมชนมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชุมชนเอง
(๖) สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว
กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ขั้นที่ ๓ ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุระกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ
· เกษตรกรขายข้าวได้ในราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
· ธนาคารกับบริษัทสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกร และมาสีเอง)
· เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ ซื้อในราคาขายส่ง)
· ธนาคารกับบริษัทจะสามารถกระจายบุคลากร (เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น) ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำเอาเกษตรทฤษฎีใหม่ไปทำการทดลองขยายผล ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมทั้งกรม

วิชาการเกษตรได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิต จำนวน ๒๕ แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาค กระทรวงกลาโหม และกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการดำเนินงานให้มีการนำเอาทฤษฎีใหม่นี้ไปใช้อย่างกว้างขวางขึ้น

http://web.ku.ac.th/king72/2542-09/res05_02.html

วันอาทิตย์ที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

ตอบคำถามท้ายหน่วยที่ 1

ข้อ 1 จงบอกความหมายของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการศึกษามาอย่างถูกต้อง

- เทคโนโลยี หมายถึง การนำเอาขบวนการ วิธีการ และแนวคิดใหม่ๆมาใช้ หรือประยุกต์ใช้อย่าง มีระบบเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
- นวัตกรรมทางการศึกษา หมายถึง ความคิดและวิธีการปฎิบัติใหม่ๆที่ส่งเสริมให้กระบวนการทางการศึกษามีประสิทธิภาพสูงขึ้ เช่น การสอนแบบโปรแกรม เป็นต้น

ข้อ 2 จงยกตัวอย่างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในสาขาต่างๆมาอย่างน้อย 5 สาขา

1. เทคโนโลยีด้านการศึกษา
2. เทคโนโลยีด้านการทหาร
3. เทคโนโลยีด้านการคมนาคม
4. เทคโนโลยีด้านการติดต่อสื่อสาร
5. เทคโนโลยีด้านการแพทย์